Wednesday, March 9, 2011

รูปภาพ

ราชวงศ์อับบาซียะห์

ราชวงศ์อับบาซียะห์

ราชวงค์อับบาสิยะฮ์ (The Abbasid Dynasty)

ราชวงค์อับบาสิยะฮ์ ระหว่างปี ฮ.ศ.132-656 หรือ ค.ศ. 749-1258 ศูนย์กลางการปกครองอยู่ทีแบกแดด

หลังจากราชวงศ์อุมัยยะฮ์ถูกโค่นล้ม ราชวงศ์อับบาสียะฮ์ก็ขึ้นมาครองราชย์แทน คำว่าอับบาสียะฮ์ มาจากชื่อของท่านอับบาส บุตร อับดุลมุฎฎอลิบ บุตร ฮาชิม ซึ่งเป็นน้าชายของท่านศาสดามุฮัมมัด บางครั้งเรียกว่าเชื้อสายฮาชิมีย์
ราชวงศ์อับบาสียะฮ์ได้ย้ายเมืองหลวงจากชามมายังเขตอิรักในแบกแดด ราชวงศ์อับบาสียะฮ์แห่งแบกแดดเรืองอำนาจตั้งแต่ ค . ศ . 750-1258 ซึ่งมีระยะเวลาการครองราชย์ยาวนานเป็นลำดับที่สองรองจากราชวงศ์ออตโตมาน ราชวงศ์อับบาสียะฮ์มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์อิสลามและประวัติศาสตร์โลกโดยรวม เพื่อสะดวกในการศึกษาประวัติศาสตร์ราชวงศ์อับบาสียะฮ์ นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ได้แบ่งยุคประวัติศาสตร์อับบาสียะฮ์ออกเป็นสองยุคใหญ่ๆ คือยุคต้นและยุคปลาย
ยุคต้น หมายถึง ตั้งแต่เริ่มแรกการสถาปนาราชวงศ์อับบาสียะฮ์ในปี ฮ . ศ . 132 / ค . ศ . 750 จนถึงปี ฮ . ศ . 232 / ค . ศ . 847 ซึ่งรวมระยะเวลาการปกครองประมาณหนึ่งศตวรรษ ส่วนยุคปลายหมายถึง ตั้งแต่ปี ฮ . ศ . 232 / ค . ศ . 847 จนถึงพวกมงโกลเข้ามายึดครองเมืองแบกแดดหรือการสิ้นพระชนม์ของเคาะลีฟะฮ์อับดุลลอฮ์ อัลมุอ์ตะซิมบิลลาฮ์ในปี ฮ . ศ . 656 / ค . ศ . 1258 ซึ่งรวมระยะเวลาการปกครองประมาณ 424 ปี
ในยุคปลายของราชวงศ์อับบาสียะฮ์สามารถแบ่งออกเป็นสี่ช่วงดังนี้
1. ช่วงชาวเตอร์กเรืองอำนาจ คือระหว่างปี ฮ . ศ . 232-334 / ค . ศ . 847-946 รวมระยะเวลาประมาณ 102 ปี ช่วงดังกล่าวนี้ชาวเตอร์กมีบทบาทมากในการกำหนดทิศทางทางการเมืองการปกครองและการทหารของราชวงศ์อับบาสียะฮ์
2. ช่วงพวกบูไวยฮ์เรืองอำนาจ คือระหว่างปี ฮ . ศ . 334-447 / ค . ศ . 946-1055 รวมระยะเวลา 113 ปี ในช่วงนี้อำนาจทางการเมืองและการปกครองของราชวงศ์อับบาสียะฮ์ตกอยู่ในมือของพวกบูไวยฮ์ซึ่งเป็นชีอะฮ์
3. ช่วงเซลจูลเรืองอำนาจ คือระหว่างปี ฮ . ศ . 447-530 / ค . ศ . 1055-1136 รวมระยะเวลา 83 ปี ในช่วงนี้อำนาจทางการเมืองของราชวงศ์อับบาสียะฮ์ถูกควบคุมโดยพวกเซลจูกซึ่งเป็นสุนนีย์ที่เข้ามาโค่นอำนาจของพวกบูไวยฮ์ซึ่งเป็นชีอะฮ์
4. ช่วงสุดท้ายและล่มสลาย คือระหว่างปี ฮ . ศ . 530-656 / ค . ศ . 1136-1258 ซึ่งเป็นช่วงที่พวกเซลจูกกำลังเสื่อมโทรม ในขณะเดียวกันมีการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูอำนาจของอับบาสียะฮ์ใหม่ แต่ก็ถูกคุกคามโดยอำนาจใหม่แห่งราชวงศ์มงโกลจนล่มสลายไปในที่สุด ช่วงนี้มีระยะเวลาการปกครองประมาณ 126 ปี
ราชวงศ์อับบาสียะฮ์แห่งแบกแดดมีเคาะลีฟะฮ์ปกครองรวมทั้งหมด 37 ท่าน ในช่วง 3 ศตวรรษแรกของการปกครองของราชวงศ์อับบาสียะฮ์ อาณาจักรอิสลามมีความเจริญก้าวหน้ามากทั้งในด้านการเมือง การปกครอง การศึกษา สังคมและเศรษฐกิจ จนได้รับขนานนามว่าเป็นยุคฟื้นฟูแห่งอิสลาม
สมัยการปกครองของราชวงค์อับบาสียะฮ์ เป็นสมัยของการสร้างความเป็นเอกภาพและความรุ่งเรืองสูงสุด มีการขยายอนาเขตการปกครองมากขึ้น คือ ทางทิศตะวันตกอิสลามเผยแพร่ถึงแอฟริกาเหนือ สเปน ส่วนทางด้านทิศตะวันออกอิสลามเผยแพร่ถึง ฝั่งเปอร์เซียและอินเดีย โดยอยู่ภายใต้การปกครองของเคาะลีฟะฮ์ ซึ่งมีศูนย์อยู่ที่แบกแดด
การเรือง อำนาจของราชวงศ์อับบาสียะฮ์เป็นการเปิดศักราชใหม่ของมุสลิมในด้านศิลปวิทยาการสาขาต่างๆ ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ของมุสลิมได้เริ่มขึ้นพร้อมๆ กับการเริ่มขึ้นของราชวงศ์อับบาสียะฮ์ เคาะลีฟะฮ์ในราชวงศ์อับบาสียะฮ์เป็นผู้อุปถัมภ์วิทยาการอย่างใหญ่หลวง ได้ทนุบำรุงเลี้ยงดูนักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถซึ่งได้สร้างประโยชน์อันมีค่าให้แก่วัฒนธรรมของโลก
ท่านเคาะลีฟะฮ์อัลมะอ์มูน ( ค . ศ . 813-833) ทรงเปิดแผนกแปลเพื่อรักษาผลงานด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของต่างชาติไว้เช่น ผลงานของอริสโตเติล กาเลน แต่คงจะหายสาปสูญไปถ้าหากมุสลิมไม่ได้เก็บรักษามันไว้ด้วยการแปลเป็นภาษาอาหรับ นอกจากนี้ยุโรปเป็นหนี้มุสลิมในเรื่องความรู้ทางเคมี การแพทย์และคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก ท่านอัลรอซี และอิบนุซินาเป็นแพทย์ที่ยิ่งใหญ่ที่โลกรู้จักกัน ตำราอัลกอนูน ของอิบนุซินาได้ใช้เป็นตำราทางการแพทย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในยุโรปมาหลายร้อยปี
เคาะลีฟะฮ์ต้นๆ ของราชวงศ์อับบาสียะฮ์ได้สร้างโรงพยาบาลขึ้นซึ่งเรียกว่า “ บิมาริสตาน ” โรงพยาบาลแห่งแรกถูกสร้างขึ้นโดยเคาะลีฟะฮ์ฮารูน อัรรอชีดในกรุงแบกแดด ต่อมาก็ได้มีโรงพยาบาลเกิดขึ้นอีก 34 แห่งในส่วนต่างๆของโลกมุสลิม สาขาอื่นๆ อาทิเช่น ศัลยกรรม เภสัชกรรม วิชาเกี่ยวกับสายตา ฯลฯ ก็เจริญก้าวหน้ามากในสมัยอับบาสียะฮ์
ชาวมุสลิมได้ปลูกฝังความรักด้านปรัชญาอย่างกระตือรือร้นเท่าๆ กันกับวิทยาศาสตร์ อัลฆอซาลี , อัลกินดี , อัลฟารอบีและอิบนุ ซินา เป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงของชาวมุสลิมในสมัยอับบาสียะฮ์
ท่านอัลกินดี นอกจากเป็นนักปรัชญาแล้วท่านยังเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุ นักประดิษฐ์กล้อง และนักทฤษฏีด้านดนตรีอีกด้วย ท่านได้เขียนตำราในด้านต่างๆ กว่า 200 เล่ม ส่วนท่านฟารอบี ชาวอาหรับได้ให้สมญานามว่า “ อริสโตเติลอาหรับ ” ท่านได้เขียนตำราทางด้านจิตวิทยา การเมืองและอภิปรัชญาไว้มากมาย นอกจากนี้ในด้านดาราศาสตร์ในรัชสมัยของเคาะลีฟะฮ์อัลมะอ์มูนได้มีการสร้างหอดูดาวแห่งแรกขึ้นที่เมืองจันดีชาปูร ในเปอร์เซียตะวันออกเฉียงใต้ และต่อมาได้มีการสร้างอีกแห่งหนึ่งในเมืองแบกแดด
ในบรรดานักคณิตศาสตร์ทางดาราศาสตร์คนที่สำคัญคืออัลเคาะวาริซมีย์ ผู้เขียนตำรา “ กิตาบ ซูรอตุลอัรฏ์ ” ซึ่งอธิบายแผนโลกที่เป็นเล่มแรกในศตวรรษที่ 9 นอกจากนี้ ท่านอัลบัยรูนี และท่านอุมัร อัลค็อยยาม ) เป็นนักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้น
ชาวอาหรับยังทำประโยชน์ทางความรู้วิชาเคมีอีกด้วย ท่านญาบิร อิบนุ ฮัยยาน แห่งเมืองกูฟะฮ์นับว่าเป็นบิดาแห่งวิชาเคมีสมัยใหม่ ท่านได้สร้างห้องทดลองขึ้นในเมืองกูฟะฮ์ ได้ค้นพบสารประกอบทางเคมีมากมายและได้เขียนตำราเกี่ยวกับวิชาเคมีไว้หลายเล่ม ทางด้านประวัติศาสตร์มุสลิมก็เจริญก้าวหน้าไม่น้อยกว่าสาขาอื่นๆ ท่านบาลาซูรี , ฮามาดัน , มัสอูดีย์ , ตอบารีย์ , และอิบนุ อะษีร ล้วนแต่เป็นนักประวัติศาสตร์ที่เด่นอยู่ในสมัยอับบาสียะฮ์ นักวรรณกรรมภาษาอาหรับและเปอร์เซียที่มีชื่อเสียงก็มีท่านอิสฟาฮานีย์ ท่านอิบนุค็อลลิกาน ท่านอบูนุวาส ท่านฟิรเดาซีย์ ท่านอบูฟะรอจญ์ เป็นต้น
ผลงานที่มีคุณค่าต่อสังคมโลกของ ราชวงค์อับบาสียะฮ์
ส่วนในด้านนิติศาสตร์ในสมัยอับบาสียะฮ์เกิดสำนักทางฟิกฮ์หรือที่เรียกว่ามัซฮับขึ้นสี่สำนัก ซึ่งมีท่านอิมามอบู หะนีฟะฮ์ ท่านอิมามมาลิก ท่านอิมามชาฟิอีย์ และท่านอิมามอะห์มัด อิบนุ ฮัมบัลเป็นผู้นำของแต่ละสำนัก จึงกล่าวได้ว่านักปราชญ์และผู้รู้ของมุสลิมในสมัยอับบาสียะฮ์มีอยู่ในทุกสาขาวิชาการและเป็นทองแห่งศิลปวิทยาการอิสลาม
การปกครองในสมัยอับบาสียะฮ์เป็นยุคที่มีความรุ่งเรืองในแง่ของวิชาการได้มีการพัฒนาถึงขั้นสุดยอดของศาสตร์อิสลาม ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาและไม่ใช่ศาสนา รวมทั้งวัฒนธรรมอิสลาม ซึ่งได้มีการพัฒนาวิชาการใน 3 ด้านคือ
1.ด้านการแต่งตำรา
2.ด้านการจำแนกสาขาวิชาอย่างเป็นระบบ
3.ด้านการแปลหนังสือหรือตำราต่างๆจากภาษาอื่นเป็นภาษาอาหรับ

1.ด้านการแต่งตำรา
อุลามาอฺที่โดดเด่นในยุคนี้ที่ได้เริ่มมีการแต่งตำราขึ้น ไดแก่ อีมามมาลิก ได้ แต่งตำราอัลมุวัฎเฎาะ เป็นตำราเกี่ยวกับวิชาหะดิษ อิบนุ อิซฮาก ได้แต่งตำราประวัติศาสตร์อิสลาม และอาบูฮานีฟะฮ์ได้แต่งตำราฟิกฮ์ เป็นต้น

2.ด้านการจำแนกสาขาวิชาอย่างเป็นระบบ
ในยุคนี้วิชาการอิสลามได้มาถึงระดับที่สูงขึ้น มีการจัดสาขาวิชาอย่างละเอียดและเป็นระบบอันได้แก่
1. สาขาวิชาตัฟซีร ได้มีการแยกออกจากวิชาหะดิษ โดยแยกเป็นวิชาหะดิษ วิชาตัฟซีร ผู้ที่มีชื่อเสียงในสาขาวิชาตัฟซีรในสมัยนี้ คือ อัล เฏาะบะรี
2. สาขาวิชาฟิกฮ์ อีมามของมัษฮับทั้ง 4 ก็ได้เกิดขึ้นในสมัยนี้ คือ อิมามฮานาฟี มาลิกี ชาฟีอีและ ฮัมบาลี
3. สาขาวิชาหะดิษอีมามทั้ง 6 ก็ได้เกิดขึ้นในสมัยนี้ คือ อีมามบุคอรี มุสลิม อบูดาวูด ติรมีษี อิบนุมาญะฮ์ และ นะซาอี
4. สาขาวิชาปรัชญา สมัยนี้ได้ถือกำเนิดนักปรัชญาโลกมุสลิม คือ อัล กินดี ถือเป็นนักปรัชญามุสลิมท่านแรกในสมัยอับบาซียะฮ์ และ อันฟารอบี ก็เป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียง
5.ทางด้านสาขาวิชาประวัติศาสตร์ได้แยกวิชาประวัติศาสตร์ออกจากวิชาหะดิษ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ สมัยนี้ได้ถือกำเนิดนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เช่น อิบนุ กุฏอยบะฮ์ อัล เฎาะบะรี อิบนุ คอนดูน อิบนุอิสฮาก เป็นต้น
6. ทางด้านวิชาภาษาศาสตร์อาหรับ ก็มี 2 สำนัก คือ สำนักบัสเราะฮ์ และ สำนักกูฟะฮ์
7. สาขาวิชาคนิตศาสตร์และดาราศาสตร์ ผู้ที่มีชื่อเสียงในสาขานี้ คือ อัล เคาะวาริซมีย์
8. สาขาวิชาการแพทย์ ผู้ที่เขียนตำราแพทย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนี้ คือ อะลี อัล-เฏาะบะรี อัลรอซี อัลมะญูซี และอิบนุ ซีนา เป็นต้น
นอกจากสาขาวิชาต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีสาขาวิชาอื่นๆอีกมากมายที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยนี้ เช่น จริยศาสตร์ ศูฟี อิลมุกาลาม วรรณกรรมอาหรับ เป็นต้น

3.ด้านการแปลหนังสือหรือตำราต่างๆจากภาษาอื่นเป็นภาษาอาหรับ
เคาะลีฟะฮ์ให้ความสำคัญล่งเสริมและสนับสนุน บรรดาอุลามาอฺ ให้มีการแปลตำราจากภาษาอื่นๆให้เป็นภาษาอาหรับ ได้มีการตอบรับจากบรรดาอุลามาอฺส่วนใหญ่และผู้ที่โดดเด่นที่สุด คือ อิบนุมุขฟี อีกทั้งในยุคนี้ ได้มีการจัดตั้ง บัยตุลอิกมะฮ์ ซึ่งจัดว่าเป็นศูนย์กลางของวิชาการด้านต่างๆเป็นทั้งหอสมุดประชาชนและสถาบันการแปลหนังสือ
ในศตวรรษที่ 9 อำนาจทางการเมืองของราชวงศ์อับบาสียะฮ์เริ่มสั่นคลอนโดยการประกาศตั้งตัวเป็นรัฐเอกราชของราชวงศ์อุมัยยะฮ์แห่งสเปน ราชวงศ์ตุลูน แห่งอียิปต์ ราชวงศ์ตอฮิรีย์ แห่งคูรอซาน ราชวงศ์สามานีย์ แห่งแทรนโซเซียนาและคูรอซาน ราชวงศ์สัฟฟารีย์ แห่งซิสถานในศตวรรษที่ 10 กลุ่มชีอะฮ์ได้ขยายอิทธิพลอย่างกว้างขวางและมีบทบาททางการเมืองมาก ดินแดนแอฟริกาเหนือถูกยึดครองโดยกลุ่มชีอะฮ์แห่งราชวางศ์ฟาติมีย์ ต่อมาได้ขยายอำนาจสู่อียิปต์และซีเรีย พร้อมกับประกาศตั้งตนเป็นรัฐอิสระที่อียิปต์แข่งกับราชวงศ์อับบาสียะฮ์แห่งแบกแดด
นอกจากนี้ในปี ค . ศ . 845 กลุ่มชีอะฮ์ราชวงศ์บูไวยฮีย์ ได้บุกเข้ายึดกรุงแบกแดด และกุมอำนาจราชวงศ์อับบาสีย์ไว้ได้สำเร็จ ต่อมาในปี ค . ศ . 1055 ชาวเซลจูกเข้ามามีบทบาทและกุมอำนาจในราชวงศ์อับบาสียะฮ์แทน ถึงแม้ว่าราชวงศ์อับบาสียะฮ์ จะพยายามกอบกู้อำนาจคืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยสุลต่านอัลมุกตาฟีย์และสุลต่านอันนาศิร จนกระทั่งได้อำนาจคืนจากชาวเซลจูกในปี ค . ศ . 1194 แต่ต้องเผชิญมรสุมลูกใหญ่จากการรุกรานของทหารมงโกล ราชวงศ์อับบาสียะฮ์ไม่สามารถต้านการรุกรานของมงโกลได้ จนกระทั่งในปี ค . ศ . 1258 ( ฮ . ศ .656) มงโกลสามารถเข้ายึดเมืองแบกแดดได้ และได้สังหารสุลต่านองค์สุดท้ายของราชวงศ์อับบสิยะฮ์แห่งแบกแดด จนสิ้นสุดราชวงศ์อับบาสียะฮ์แห่งแบกแดดที่เรืองอำนาจมาเกือบ 6 ศตวรรษ

ที่มา : Islamic information center of psu Fathoni 
อ้างจาก http://khozafi-shahaan.blogspot.com/2010/04/blog-post_7529.html

กำเนิดอาณาจักรออตโตมานเติกร์

1. ต้นกำเนิดและถิ่นฐานของเผ่าเติร์ก
             ดินแดนพ้นทะเล หรือแทรนโซเซเนีย(Transoxania) หรือพื้นที่รอบบริเวณประเทศตุรกีสถานในปัจจุบัน เริ่มจากที่ราบสูงของมองโกเลียไปจรดทางทิศเหนือของจีนด้านตะวันออกและทะเลก็อซรีนด้านทิศตะวันตก และเริ่มจากที่ราบลุ่มของไซบีเรียด้านทิศเหนือไปจรดคาบสมุทรอินเดียและเปอร์เซียด้านทิศใต้ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าอัลฆ็อซ (Oguz) (Bartold, Ahmad al-Aid (Trans), Tarikh al-Turk fi Asia al-Wustow, p.106) ซึ่งเป็นบรรพชนของชาวเติร์ก (Sadruddin al-Husaini, Akhbar al-Umara' wa al-Muluk al-Saljukiyah, pp.2-4)
            ต่อมา ในช่วงกลางของศตวรรษที่ 6 แห่งคริสต์ศักราช เผ่าอัลฆ็อสได้อพยพย้ายถิ่นฐานมุ่งสู่เอเชียน้อย (Asia Minor) เขตอานาโดลหรืออานาโตเลีย (Anatolia) หรือประเทศตุรกีในปัจจุบัน ส่วนสาเหตุที่นำไปสู่การอพยพครั้งยิ่งใหญ่ดังกล่าวยังเป็นที่ขัดแย้งของเหล่านักประวัติศาสตร์ บางคนมีทัศนะว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุผลด้านเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากความแห้งแล้งที่รุนแรงและมีลูกหลานมาก ทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างอัตคัดและขัดสน จึงจำเป็นต้องอพยพออกจากถิ่นฐานเดิมเพื่อแสวงหาถิ่นฐานใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สามารถทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ได้ (Abd.al-Lateef Duhaisly, Qiyam al-Daolat al-Uthmaniyah, p.8 ) ขณะที่บางคนกล่าวว่าการอพยพดังกล่าวมีสาเหตุจากเหตุผลด้านการเมือง เพราะพวกเขาได้รับความกดดันจากการรุกรานอย่างต่อเนื่องของชาวมองโกลที่มีกำลังพลที่เข้มแข็งกว่าและมีศาสตราวุธที่มากกว่า ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของชนเผ่าจึงจำเป็นต้องอพยพจากถิ่นฐานเดิมของตนเพื่อไปแสวงหาถิ่นฐานใหม่ (Ahmad al-Makreezi, al-Sulook, 1/1/3) ที่อุดมสมบูรณ์ สงบ มั่นคง และห่างไกลจากอำนาจของมองโกล (Abd.al-Lateef Duhaisly, p.8 ) เผ่าอัลฆ็อสได้เดินทางมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกและหยุดพักบริเวณใกล้ชายฝั่งแม่น้ำเจฮูน (Oxus/Amu-Darya River) และในที่สุดพวกเขาก็พบทำเลที่เหมาะสมสำหรับการตั้งถิ่นฐานชั่วคราวบริเวณฏ็อบรุสตาน (Tobrustan) และญุรญาน (Jurjan) ซึ่งเป็นบริเวณชายแดนที่ติดต่อกับอาณาจักรอิสลาม -ในปี ฮิจญ์เราะฮฺศักราชที่ 21 (ค.ศ. 641) เขตดังกล่าวได้ถูกชาวมุสลิมพิชิตลง หลังจากที่พวกเขาได้รับชัยชนะในสงครามนะฮาวันด์และได้ถล่มอาณาจักรซาซานแห่งเปอร์เซียลงอย่างราบคาบ (Syauqi Abu Khalil, Nahawand, pp.55-70)- ดังนั้นพวกเขาจึงตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณนั้น (Ibn al-Athir, al-Kamil fi al-Tarikh, 8/22)


2. ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเติร์กและโลกอาหรับ
              ในปี ฮ.ศ. 22 (ค.ศ.642) กองทัพอิสลามได้ยกทัพเพื่อไปพิชิตหัวเมืองต่างๆในเขตที่ชาวเติร์กอาศัยอยู่ ณ สถานที่ดังกล่าวได้มีการเผชิญหน้ากันระหว่างแม่ทัพอิสลาม อับดุลเราะหฺมาน บิน เราะบีอะฮฺ กับกษัตริย์ของชาวเติร์กมีนามว่า ชะฮฺรุบัรร็อช กษัตริย์ได้ยื่นข้อเสนอขอทำสัญญาสงบศึก พร้อมกับแสดงท่าทีว่ากองทัพของเขาพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกองทัพอิสลามในการโจมตีเมืองอัรมัน ดังนั้นอับดุลเราะหฺมานจึงนำกษัตริย์เติร์กไปพบกับแม่ทัพใหญ่สุรอเกาะฮฺ บิน อัมรู หลังจากที่กษัตริย์เติร์กได้พูดคุยและแสดงออกถึงเจตนารมณ์ของตนให้สุรอเกาะฮฺฟัง สุรอเกาะฮฺก็เห็นด้วย ดังนั้นท่านจึงเขียนสารส่งไปยังเคาะลีฟะฮฺอุมัร บิน อัลค็อฏฏอบเพื่อแจ้งถึงความประสงค์ของที่จะขอทำสัญญาสงบศึกของกษัตริย์เติร์กและทัศนะของตนในเรื่องดังกล่าว และหลังจากที่ได้รับสารความเห็นชอบจากเคาะลีฟะฮฺอุมัร การทำสัญญาสงบศึกระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงเกิดขึ้นโดยปราศจากการนองเลือด หลังจากนั้นกองทัพทั้งสองจึงเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองอัรมันเพื่อร่วมกันทำการพิชิต (Ibn Jarir al-Tobari, Tarikh al-Umam wa al-Muluk, 3/256-257) กองทัพอิสลามยังคงเดินหน้าต่อไปเพื่อเผยแผ่อิสลามและพิชิตเมืองต่างๆทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาณาจักรเปอร์เซีย จนกระทั่งการเรียกร้องเชิญชวนสู่อิสลามได้แพร่สะพัดจนครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของบริเวณดังกล่าว และหลังจากที่อาณาจักรเปอร์เซียอันเป็นกำแพงที่สกัดกั้นการเดินหน้าของการเรียกร้องเชิญชวนสู่อิสลามของชาวมุสลิมถูกพิชิตลงอย่างราบคาบโดยกองทัพอิสลาม ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมชาวมุสลิมกับพลเมืองแห่งอาณาจักรเปอร์เซีย ซึ่งมีชาวเติร์กรวมอยู่ด้วย จึงเริ่มขึ้นและทยอยกันเข้ารับอิสลามอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเสนอตัวเข้าเป็นแนวร่วมของกองทัพอิสลามในฐานะมุสลิมคนหนึ่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแผ่อิสลามและพิชิตเมืองต่างๆต่อไป (Muhammad Anis, al-Daulah al-Uthmaniyah wa al-Syarqu al-Arabi, pp.12-13) ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺอุษมาน บิน อัฟฟาน กองทัพอิสลามได้พิชิตเมืองฏ็อบรุสตาน และในปี ฮ.ศ. 31 กองทัพอิสลามได้เดินทางข้ามแม่น้ำเจฮูนและตั้งค่ายพักแรมอยู่ ณ เมืองพ้นทะเล หรือเขตแทรนซิเซียนา จึงทำให้ชาวเติร์กทยอยกันเข้ารับอิสลามและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอิสลาม (Al-Balazuri, Futuh al-Buldan, p.405,409) ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺมุอาวียะฮฺ บิน อบีสุฟยาน กองทัพอิสลามได้ทลวงลึกเข้าไปยังแคว้นต่างๆมากยิ่งขึ้นจนสามารถพิชิตเมืองบุคาราและสะมัรกันด์ จนในที่สุดเมืองต่างๆในเขตพ้นทะเลกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอิสลามอย่างเต็มภาคภูมิ (Mahmood Syakir, Khurasan, pp.20-35) จากนั้น บทบาทของชาวเติร์กก็เริ่มฉายแสงเจิดจรัสในเขตพระราชวัง และคฤหาสน์เสนา และทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงการปกครองของราชวงศ์อับบาสิยะฮฺ ถึงขนาดมีบางคนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและคณะบริหารของราชอาณาจักร ซึ่งพวกเขามีแต่ความจงรักภักดีและซื่อสัตย์ในหน้าที่มาตลอด จนได้รับความไว้วางใจ ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺอัลมุอฺตะซิมแห่งราชวงศ์อับบาสิยะฮฺ พระองค์ได้เปิดโอกาสให้ชาวเติร์กได้มีส่วนร่วมด้านการบริหารการปกครองอย่างกว้างขวาง จนกิจการสำคัญๆและตำแหน่งงานบริหารระดับสูงได้ตกเป็นของชนเผ่าเติร์กเกือบทั้งหมด ที่เป็นเช่นนั้นอัลมุอตะซิมต้องการที่คานอำนาจและบารมีของของชาวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นกลุ่มที่กุมอำนาจเบ็จเสร็จในการบริหารกิจการของอาณาจักรราชวงศ์อับบาสิยะฮฺ นับตั้งแต่สมัยการปกครองของเคาลีฟะฮฺอัลมะมูมเป็นต้นมา.

         นับตั้งแต่นั้นมา ชนเผ่าเติร์กก็เริ่มออกมามีบทบาทสำคัญที่โดดเด่นและโลดแล่นบนเวทีประวัติศาสตร์อิสลามอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถสถาปนาอาณาจักรการปกครองเป็นของตนเองเคียงค้างกับอาณาจักรอับบาสิยะฮฺ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของอาณาจักรซัลญูก (Saljuks) (Abd.al-Lateef Duhaisly, Qiyam al-Daulat al-Uthmaniyah, p.12) และการสถาปนาอาณาจักรอุษมานียะฮฺหรือออตโตมานในเวลาต่อมา...
อ้างจาก http://www.iqraforum.com/oldforum1/www.iqraonline.org/forum/index0390.html?topic=732.0