Wednesday, March 9, 2011

กำเนิดอาณาจักรออตโตมานเติกร์

1. ต้นกำเนิดและถิ่นฐานของเผ่าเติร์ก
             ดินแดนพ้นทะเล หรือแทรนโซเซเนีย(Transoxania) หรือพื้นที่รอบบริเวณประเทศตุรกีสถานในปัจจุบัน เริ่มจากที่ราบสูงของมองโกเลียไปจรดทางทิศเหนือของจีนด้านตะวันออกและทะเลก็อซรีนด้านทิศตะวันตก และเริ่มจากที่ราบลุ่มของไซบีเรียด้านทิศเหนือไปจรดคาบสมุทรอินเดียและเปอร์เซียด้านทิศใต้ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าอัลฆ็อซ (Oguz) (Bartold, Ahmad al-Aid (Trans), Tarikh al-Turk fi Asia al-Wustow, p.106) ซึ่งเป็นบรรพชนของชาวเติร์ก (Sadruddin al-Husaini, Akhbar al-Umara' wa al-Muluk al-Saljukiyah, pp.2-4)
            ต่อมา ในช่วงกลางของศตวรรษที่ 6 แห่งคริสต์ศักราช เผ่าอัลฆ็อสได้อพยพย้ายถิ่นฐานมุ่งสู่เอเชียน้อย (Asia Minor) เขตอานาโดลหรืออานาโตเลีย (Anatolia) หรือประเทศตุรกีในปัจจุบัน ส่วนสาเหตุที่นำไปสู่การอพยพครั้งยิ่งใหญ่ดังกล่าวยังเป็นที่ขัดแย้งของเหล่านักประวัติศาสตร์ บางคนมีทัศนะว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุผลด้านเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากความแห้งแล้งที่รุนแรงและมีลูกหลานมาก ทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างอัตคัดและขัดสน จึงจำเป็นต้องอพยพออกจากถิ่นฐานเดิมเพื่อแสวงหาถิ่นฐานใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สามารถทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ได้ (Abd.al-Lateef Duhaisly, Qiyam al-Daolat al-Uthmaniyah, p.8 ) ขณะที่บางคนกล่าวว่าการอพยพดังกล่าวมีสาเหตุจากเหตุผลด้านการเมือง เพราะพวกเขาได้รับความกดดันจากการรุกรานอย่างต่อเนื่องของชาวมองโกลที่มีกำลังพลที่เข้มแข็งกว่าและมีศาสตราวุธที่มากกว่า ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของชนเผ่าจึงจำเป็นต้องอพยพจากถิ่นฐานเดิมของตนเพื่อไปแสวงหาถิ่นฐานใหม่ (Ahmad al-Makreezi, al-Sulook, 1/1/3) ที่อุดมสมบูรณ์ สงบ มั่นคง และห่างไกลจากอำนาจของมองโกล (Abd.al-Lateef Duhaisly, p.8 ) เผ่าอัลฆ็อสได้เดินทางมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกและหยุดพักบริเวณใกล้ชายฝั่งแม่น้ำเจฮูน (Oxus/Amu-Darya River) และในที่สุดพวกเขาก็พบทำเลที่เหมาะสมสำหรับการตั้งถิ่นฐานชั่วคราวบริเวณฏ็อบรุสตาน (Tobrustan) และญุรญาน (Jurjan) ซึ่งเป็นบริเวณชายแดนที่ติดต่อกับอาณาจักรอิสลาม -ในปี ฮิจญ์เราะฮฺศักราชที่ 21 (ค.ศ. 641) เขตดังกล่าวได้ถูกชาวมุสลิมพิชิตลง หลังจากที่พวกเขาได้รับชัยชนะในสงครามนะฮาวันด์และได้ถล่มอาณาจักรซาซานแห่งเปอร์เซียลงอย่างราบคาบ (Syauqi Abu Khalil, Nahawand, pp.55-70)- ดังนั้นพวกเขาจึงตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณนั้น (Ibn al-Athir, al-Kamil fi al-Tarikh, 8/22)


2. ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเติร์กและโลกอาหรับ
              ในปี ฮ.ศ. 22 (ค.ศ.642) กองทัพอิสลามได้ยกทัพเพื่อไปพิชิตหัวเมืองต่างๆในเขตที่ชาวเติร์กอาศัยอยู่ ณ สถานที่ดังกล่าวได้มีการเผชิญหน้ากันระหว่างแม่ทัพอิสลาม อับดุลเราะหฺมาน บิน เราะบีอะฮฺ กับกษัตริย์ของชาวเติร์กมีนามว่า ชะฮฺรุบัรร็อช กษัตริย์ได้ยื่นข้อเสนอขอทำสัญญาสงบศึก พร้อมกับแสดงท่าทีว่ากองทัพของเขาพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกองทัพอิสลามในการโจมตีเมืองอัรมัน ดังนั้นอับดุลเราะหฺมานจึงนำกษัตริย์เติร์กไปพบกับแม่ทัพใหญ่สุรอเกาะฮฺ บิน อัมรู หลังจากที่กษัตริย์เติร์กได้พูดคุยและแสดงออกถึงเจตนารมณ์ของตนให้สุรอเกาะฮฺฟัง สุรอเกาะฮฺก็เห็นด้วย ดังนั้นท่านจึงเขียนสารส่งไปยังเคาะลีฟะฮฺอุมัร บิน อัลค็อฏฏอบเพื่อแจ้งถึงความประสงค์ของที่จะขอทำสัญญาสงบศึกของกษัตริย์เติร์กและทัศนะของตนในเรื่องดังกล่าว และหลังจากที่ได้รับสารความเห็นชอบจากเคาะลีฟะฮฺอุมัร การทำสัญญาสงบศึกระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงเกิดขึ้นโดยปราศจากการนองเลือด หลังจากนั้นกองทัพทั้งสองจึงเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองอัรมันเพื่อร่วมกันทำการพิชิต (Ibn Jarir al-Tobari, Tarikh al-Umam wa al-Muluk, 3/256-257) กองทัพอิสลามยังคงเดินหน้าต่อไปเพื่อเผยแผ่อิสลามและพิชิตเมืองต่างๆทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาณาจักรเปอร์เซีย จนกระทั่งการเรียกร้องเชิญชวนสู่อิสลามได้แพร่สะพัดจนครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของบริเวณดังกล่าว และหลังจากที่อาณาจักรเปอร์เซียอันเป็นกำแพงที่สกัดกั้นการเดินหน้าของการเรียกร้องเชิญชวนสู่อิสลามของชาวมุสลิมถูกพิชิตลงอย่างราบคาบโดยกองทัพอิสลาม ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมชาวมุสลิมกับพลเมืองแห่งอาณาจักรเปอร์เซีย ซึ่งมีชาวเติร์กรวมอยู่ด้วย จึงเริ่มขึ้นและทยอยกันเข้ารับอิสลามอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเสนอตัวเข้าเป็นแนวร่วมของกองทัพอิสลามในฐานะมุสลิมคนหนึ่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแผ่อิสลามและพิชิตเมืองต่างๆต่อไป (Muhammad Anis, al-Daulah al-Uthmaniyah wa al-Syarqu al-Arabi, pp.12-13) ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺอุษมาน บิน อัฟฟาน กองทัพอิสลามได้พิชิตเมืองฏ็อบรุสตาน และในปี ฮ.ศ. 31 กองทัพอิสลามได้เดินทางข้ามแม่น้ำเจฮูนและตั้งค่ายพักแรมอยู่ ณ เมืองพ้นทะเล หรือเขตแทรนซิเซียนา จึงทำให้ชาวเติร์กทยอยกันเข้ารับอิสลามและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอิสลาม (Al-Balazuri, Futuh al-Buldan, p.405,409) ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺมุอาวียะฮฺ บิน อบีสุฟยาน กองทัพอิสลามได้ทลวงลึกเข้าไปยังแคว้นต่างๆมากยิ่งขึ้นจนสามารถพิชิตเมืองบุคาราและสะมัรกันด์ จนในที่สุดเมืองต่างๆในเขตพ้นทะเลกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอิสลามอย่างเต็มภาคภูมิ (Mahmood Syakir, Khurasan, pp.20-35) จากนั้น บทบาทของชาวเติร์กก็เริ่มฉายแสงเจิดจรัสในเขตพระราชวัง และคฤหาสน์เสนา และทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงการปกครองของราชวงศ์อับบาสิยะฮฺ ถึงขนาดมีบางคนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและคณะบริหารของราชอาณาจักร ซึ่งพวกเขามีแต่ความจงรักภักดีและซื่อสัตย์ในหน้าที่มาตลอด จนได้รับความไว้วางใจ ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺอัลมุอฺตะซิมแห่งราชวงศ์อับบาสิยะฮฺ พระองค์ได้เปิดโอกาสให้ชาวเติร์กได้มีส่วนร่วมด้านการบริหารการปกครองอย่างกว้างขวาง จนกิจการสำคัญๆและตำแหน่งงานบริหารระดับสูงได้ตกเป็นของชนเผ่าเติร์กเกือบทั้งหมด ที่เป็นเช่นนั้นอัลมุอตะซิมต้องการที่คานอำนาจและบารมีของของชาวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นกลุ่มที่กุมอำนาจเบ็จเสร็จในการบริหารกิจการของอาณาจักรราชวงศ์อับบาสิยะฮฺ นับตั้งแต่สมัยการปกครองของเคาลีฟะฮฺอัลมะมูมเป็นต้นมา.

         นับตั้งแต่นั้นมา ชนเผ่าเติร์กก็เริ่มออกมามีบทบาทสำคัญที่โดดเด่นและโลดแล่นบนเวทีประวัติศาสตร์อิสลามอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถสถาปนาอาณาจักรการปกครองเป็นของตนเองเคียงค้างกับอาณาจักรอับบาสิยะฮฺ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของอาณาจักรซัลญูก (Saljuks) (Abd.al-Lateef Duhaisly, Qiyam al-Daulat al-Uthmaniyah, p.12) และการสถาปนาอาณาจักรอุษมานียะฮฺหรือออตโตมานในเวลาต่อมา...
อ้างจาก http://www.iqraforum.com/oldforum1/www.iqraonline.org/forum/index0390.html?topic=732.0

No comments:

Post a Comment